misterfast,มิสเตอร์ฟาสต์,จัดส่งสินค้า,ส่งพัสดุ,บริการคลัง,โกดังสินค้า

DITP จับมือ RX Tradex จัดงาน TILOG-LOGISTIX 2024 ตั้งเป้าซื้อ-ขาย 2,000 ล้าน...

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP จับมือเดินหน้ายกระดับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทย จัดงาน TILOG-LOGISTIX 2024 คาดว่าจำนวนผู้เข้าชมงานในปีนี้ไม่น้อยกว่า 9,000 ราย และตั้งเป้ามูลค่าการซื้อขายในงานไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท

วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 นางสาวณัฐิยา สุจินดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมร่วมกับ อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ (RX Tradex) กำหนดจัดงาน TILOG-LOGISTIX 2024 ระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคมนี้ ที่ไบเทค ฮอลล์ 98

ราชกิจจาฯ ประกาศ ยกเลิกห้ามขาย เครื่องกรองน้ำ-เครื่องฟอกอากาศ ยี่ห้อดัง
กรุงไทย ออกประกันชีวิตเพื่อวัยเกษียณ จ่ายเบี้ยสั้น-รับเงินบำนาญสูงสุด 25%
แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หลังทะเบียนผ่านแล้ว รู้ผลวันไหนเช็กเลย


พร้อมดึงผู้ประกอบการกว่า 140 บริษัท นำเสนอสินค้าและบริการกว่า 415 แบรนด์ จาก 25 ประเทศ เข้าจัดแสดงนวัตกรรม เทคโนโลยีและบริการด้านโลจิสติกส์ พร้อมกิจกรรมเสริมองค์ความรู้ สัมมนาวิชาการ คาดผู้เข้าชมงาน 9,000 ราย

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยปี 2566 มีทิศทางเติบโตดี สมาคมการจัดการระบบคลังสินค้าไทยคาดการณ์อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในปี 2567 จะขยายตัว 15% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทย

ปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์เป็นนิติบุคคลรวม 35,593 ราย (ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดือนมิถุนายน 2567) มีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศ ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ที่ 5,808.76 ล้านบาท คิดเป็น 16.36% ของการลงทุนในกลุ่มโลจิสติกส์ในไทย โดยจีนเป็นสัญชาติที่ลงทุนมากที่สุด

นอกจากนี้จากการจัดอันดับดัชนีวัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (International Logistics Performance Index : LPI) ของธนาคารโลก ปี พ.ศ. 2566 พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 34 จาก 139 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซียสำหรับภูมิภาคอาเซียน

“งานปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Connecting the Logistics Future’ หรือเชื่อมโยงโลกของธุรกิจโลจิสติกส์ในอนาคต เพื่อแสดงถึงศักยภาพ ความพร้อม และความร่วมมือของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยในการปรับตัวให้เข้ากับธุรกิจโลจิสติกส์ ในอนาคต ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ เทคโนโลยีดิจิทัล และความยั่งยืน”

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ส่งออกต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจทั้งจากภายในประเทศและนอกประเทศ อาทิ การขาดแคลนแรงงาน ภาวะต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นทุกรายการ มาตรการทางการค้าจากหลายประเทศ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) EUDR (EU Deforestation-free Regulations)

หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับการลดการผลิตและการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการตัดไม้ทำลายป่าและทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของป่า ของสหภาพยุโรปและคาดว่าประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นจะกำหนดนโยบายออกมาบังคับใช้ในลักษณะเดียวกันในไม่ช้า

ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังประเทศเหล่านั้นต้องปรับตัว วางแผนและดำเนินการตามนโยบายเหล่านี้ ขณะเดียวกันก็เป็นทั้งโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่สามารถปรับตัวได้ ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า

ปรับปรุงกระบวนการผลิต ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์และการขนส่งสินค้า และเลือกใช้พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน ซึ่งผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ถือเป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์สำคัญสำหรับผู้ส่งออก

ดังนั้น การคัดเลือกผู้ให้บริการที่เข้าใจในความต้องการทางธุรกิจและช่วยผู้ส่งออกวางแผน เสนอทางเลือกในการพัฒนา ตลอดจนช่วยแก้ปัญหา จึงสำคัญอย่างยิ่งและเป็นกุญแจสู่ความยั่งยืนในการค้าระหว่างประเทศ

นายเฉลิมศักดิ์ กาญจนวรินทร์ นายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า อนาคตของวงการโลจิสติกส์ จะมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยผู้ให้บริการสามารถควบคุมการทำงานของทั้งซัพพลายเชน ได้ข้อมูลมาใช้ตัดสินใจได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงเวลา

มีประสิทธิภาพ และควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น เทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญกับบริการโลจิสติกส์ เช่น หุ่นยนต์จัดการคลังสินค้าและการขนลำเลียงสินค้า AI ช่วยควบคุมการขับขี่และเส้นทางของผู้ขนส่งสินค้า ซอฟต์แวร์ช่วยจัดการวางแผนเส้นทางการส่งสินค้า

รวมไปถึง Blockchain ช่วยให้สามารถเก็บรวบรวมและบริหารจัดการข้อมูลของสินค้าหลายประเภทจำนวนมาก ๆ และเชื่อมต่อกับ Stakeholder ทั้งซัพพลายเชนได้ ซึ่งการพัฒนาด้านนี้ ต้องขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน และทำกันอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก

นางวราภรณ์ ธรรมจรีย์ กรรมการผู้จัดการ RX Tradex กล่าวว่า ภายในงานจะมีการแสดงสินค้าจากนานาชาติ จากไทย จีน ญี่ปุ่น นอร์เวย์ มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย รวมทั้งพาวิลเลี่ยนจากจีน

โดยนวัตกรรมเด่นที่นำมาแสดง ได้แก่ ระบบช่วยเหลือและตรวจจับพฤติกรรมผู้ขับขี่รถขนส่งด้วย AI, ระบบการจัดการคลังสินค้าที่ใช้หุ่นยนต์ช่วยลำเลียงกระบะบรรจุสินค้า, ถุงลมกันกระแทกในตู้คอนเทนเนอร์ชนิดหน้าเรียบ, ระบบบริหารจัดการคลังสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีคิดคำนวณแทนมนุษย์, บริการขนส่งทางรางที่ครบวงจร และอีกมาก

ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนผู้เข้าชมงานในปีนี้ไม่น้อยกว่า 9,000 ราย และตั้งเป้ามูลค่าการซื้อขายในงานไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมพิเศษ อาทิ นิทรรศการภาพรวมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของไทย, Innovation Showcase, งานสัมมนา Trade Logistics Symposium 2024 และ World Transport & Logistics Forum งาน TILOG-LOGISTIX 2024 กำหนดจัดระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคมนี้ ณ ไบเทค ฮอลล์ 98

สามารถดูรายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่ www.tilog-logistix.com หรือ โทร. 0-2686-7222 งานนี้เป็นงานเจรจาทางธุรกิจ ผู้จัดงานจึงขอความร่วมมือผู้ชมงานแต่งกายสุภาพ และสงวนสิทธิ์ไม่ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปีเข้าชมงาน...